หน้าหลัก กิจกรรมเป็นข่าว ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้เมเจอร์เอกมัย

ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้เมเจอร์เอกมัย

สภาวิศวกร โดยคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอัคคีภัย นำโดยนางสาวบุษกร แสนสุข
นาย จุลดิษย์ จายนีโยธิน นาย สุรเชษฐ์ สีงาม และนายปกรณ์ ถาวรศักดิ์โภคา ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย กรณีเพลิงไหม้ภายในโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สุขุมวิท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

สำหรับการประเมินความเสียหายเบื้องต้นพบว่า อาคารได้รับความเสียหายทางด้านโครงสร้างไม่มากนักและจำกัดพื้นที่ความเสียหายบริเวณเบย์เดียวของเสาประมาณ 8 x 8 เมตร ซึ่งอาจจะทำให้โครงสร้างบริเวณพื้นชั้น 4 ที่อยู่เหนือพื้นชั้น 3 ขึ้นไปกับเสาที่เป็นคอด้านบนได้รับผลกระทบ  ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่า คอนกรีตบริเวณดังกล่าวมีความแข็งแรงที่เพียงพอหรือไม่ และถึงแม้กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นเห็นควรตรวจสอบตามหลักวิศวกรรมใน 3 ส่วนหลักๆ  ได้แก่

  • ตรวจสอบกำลังคอนกรีต ผ่านการตรวจสอบเหล็กบางตัวที่สามารถเก็บเป็นตัวอย่างทดสอบแรงดึงได้
  • ตรวจสอบพื้น เนื่องจากโดยปกติ กรณีที่พื้นโดนเพลิงไหม้เป็นระยะเวลานานจะมีการแอ่นตัว แต่ทั้งนี้ แม้กรณีที่เกิดขึ้นจะใช้ระยะเวลาอันสั้นก็ขอเสนอให้มีการตรวจสอบ
  • ตรวจกำลังการรับน้ำหนักบรรทุกของพื้น เพื่อทดสอบความแข็งแรงเชิงโครงสร้างในการรองรับน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการตรวจสอบจะมีการกำกับดูแลจากวุฒิวิศวกรเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลของอาคารได้มีการเตรียมตัว รองรับการตรวจสอบจากสถาบันที่เชื่อถือได้เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ในกระบวนการตรวจสอบดังกล่าว จะเป็นความรับผิดชอบของทางผู้ดูแลอาคารหรือทางสำนักการโยธา กทม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจดูผลทดสอบ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบประมาณ 3 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นพื้นที่จำกัด ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน สภาวิศวกร ขอแนะนำว่า ควรปิดเพื่อดำเนินการปรับปรุงสถานที่ หรือ มีคำสั่งห้ามใช้พื้นที่เบื้องต้น 30 วัน แต่ทั้งนี้ การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถานประกอบการ รวมถึงการออกคำสั่งจากทางเขต กทม. เป็นสำคัญ

นอกเหนือจากการตรวจสอบข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องทบทวนเพิ่มเติมคือ ในการปรับปรุงแก้ไขต้องทบทวนการติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยทั้งหมดให้เป็นไปตามมาตรฐาน เนื่องจากอาคารถูกใช้งานมาระยะหนึ่งอาจมีการปรับปรุงทั้งตำแหน่งผนังและเพดาน ซึ่งตำแหน่งติดตั้งอาจต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานปัจจุบัน มีการติดตั้งที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งมีการกีดขวาง (Obstruction) ระบบดังกล่าวหรือไม่ รวมไปถึงต้องตรวจสอบสภาพของระบบและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมต่อการใช้งาน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุเพลิงไหม้ซ้ำ